หน้า 6

การตรวจสอบคุณภาพ และปรับปรุงแก้ไข
     
      หลังจากที่ครู  เขียนข้อสอบตามที่ได้วางแผนไว้เรียบร้อยแล้ว  จะต้องตรวจสอบคุณภาพก่อนนำไปใช้ทดสอบจริง   เพื่อขจัดความคลาดเคลื่อนบางประการที่อาจเกิดขึ้นจากตัวข้อสอบ  โดยทั่วไปควรเขียนข้อสอบให้เกินจำนวนที่ต้องการไว้ก่อน เนื่องจากหลังการตรวจสอบคุณภาพอาจต้องตัดข้อสอบที่ไม่มีคุณภาพทิ้งหลายข้อ  คุณภาพที่ต้องตรวจสอบ มีดังนี้
  1. ตรวจสอบคุณภาพขั้นต้น เป็นการตรวจสอบคุณภาพเบื้องต้นก่อนนำแบบทดสอบไปทดลองสอบ  ว่าข้อสอบที่ครูเขียนขึ้นมีคุณลักษณะของข้อสอบที่ดีหรือไม่ เช่น คำถามมีความชัดเจนหรือไม่  แนะคำตอบหรือไม่  ถามสอดคล้องกับเนื้อหาหรือจุดประสงค์การเรียนรู้หรือไม่  ตัวเลือกตัวลวงเหมาะสมหรือไม่ ฯลฯ โดยการตรวจสอบคุณภาพขั้นต้นอาจทำได้ ดังนี้ 
   - ผู้เขียนข้อสอบพิจารณาทบทวนข้อสอบของอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วยตนเอง

   - กรรมการออกข้อสอบร่วมกันอภิปรายลักษณะข้อสอบเป็นรายข้อ
   - นำข้อสอบที่สร้างขึ้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ

         เมื่อผ่านการพิจารณาคุณภาพขั้นต้นแล้วหากพบข้อบกพร่องที่จุดใด ต้องทำการปรับปรุง
แก้ไขก่อนทำการจัดพิมพ์เพื่อเตรียมนำไปทดลองสอบต่อไป

        2. การตรวจสอบคุณภาพรายข้อ เป็นการตรวจสอบคุณสมบัติของข้อสอบด้านความยาก  และอำนาจจำแนก  ว่าเหมาะสมตามเกณฑ์หรือไม่  ทำได้โดยการนำแบบทดสอบที่ผ่านการพิจารณาขั้นต้นไปทดลองสอบกับนักเรียนที่มีลักษณะคล้ายกับนักเรียนที่จะนำแบบทดสอบไปใช้จริง  แล้วนำคำตอบที่ได้จากการทดลองสอบมาแจกแจง เพื่อวิเคราะห์คุณภาพด้านความยาก (p) และอำนาจจำแนก (r)  โดยข้อสอบที่ดีต้องมีค่าความยาก ระหว่า 0.20 - 0.80  และมีค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่ 0.20 ขึ้นไป 
        
หากผลการวิเคราะห์คุณภาพรายข้อ พบว่า ข้อใดมีคุณภาพไม่เป็นไปตามเกณฑ์ดังกล่าว จะต้องปรับปรุงแก้ไข จนกระทั่งมีคุณภาพรายข้อตามเกณฑ์ ทั้งค่าความยาก และค่าอำนาจจำแนก
           (ศึกษาเพิ่มเติมได้จากหัวข้อการหาคุณภาพแบบทดสอบ เร็ว ๆ นี้)

       3. การตรวจสอบคุณภาพทั้งฉบับ เมื่อได้ข้อสอบที่มีคุณภาพรายข้อตามจำนวนที่ต้องการแล้ว  จะต้องทำการวิเคราะห์ค่าสถิติเบื้องต้นเพื่อให้ทราบลักษณะของแบบทดสอบโดยรวมทั้งฉบับ  และเพื่อนำไปใช้วิเคราะห์คุณภาพทั้งฉบับต่อไป  โดยค่าสถิติเบื้องต้นที่ควรทำการวิเคราะห์  เช่น  ค่าเฉลี่ย  ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ค่าความแปรปรวน  ค่าความคลาดเคลื่อน
มาตรฐาน  เป็นต้น  และ คุณภาพทั้งฉบับที่ต้องทำการตรวจสอบ ได้แก่  ความเที่ยงตรง และความเชื่อมั่น
(ศึกษาเพิ่มเติมได้จากหัวข้อการหาคุณภาพแบบทดสอบ เร็ว ๆ นี้)