หน้า 3

การวางแผนสร้างแบบทดสอบ

     เป็นการเตรียมการ กำหนดแนวทางในการสร้างแบบทดสอบอย่างเป็นระบบ ก่อนลงมือเขียนข้อสอบ เพื่อให้ครูมีความชัดเจนเกี่ยวกับเนื้อหา และพฤติกรรมที่ต้องการวัด โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. กำหนดจุดมุ่งหมายในการสร้างแบบทดสอบ เป็นการกำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนว่า ต้องการสร้างแบบทดสอบเพื่อวัดผลอะไร จะนำไปวัดผลใคร และจะวัดผลไปทำไม
     ตัวอย่างเช่น - เพื่อสร้างแบบทดสอบวิชาวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4   เพื่อนำผลการสอบไปใช้ประกอบการตัดสินผลการเรียนปลายภาคเรียนที่ 2
 
2. กำหนดเนื้อหาที่จะสร้างแบบทดสอบ เป็นการกำหนดขอบเขตของเนื้อหาที่จะสร้างแบบทดสอบให้ชัดเจนว่าจะออกข้อสอบทั้งหมด กี่เรื่อง เรื่องอะไรบ้าง โดยครูต้องกำหนดให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดที่ ได้ทำการสอน
      ตัวอย่างเช่น - เนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่จะออกข้อสอบในภาคเรียนที่ 2 มี 4 เรื่อง ดังนี้
                         1. เรื่อง กินดีมีสุข
                         2. เรื่อง พลังงานแสง
                         3. เรื่อง หินและการเปลี่ยนแปลง
                         4. เรื่อง จักรวาล และอากาศ

 3. กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังในแต่ละเนื้อหา  เป็นการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังให้ครอบคลุมทุกเนื้อหาที่จะสร้างแบบทดสอบ โดยนำจุดประสงค์การเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังในแต่ละเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในแผนการสอนหรือแผนการจัดการเรียนรู้มาเขียนนั่นเอง 
      ตัวอย่างเช่น  เรื่องที่ 1 กินดีมีสุข มีจุดประสงค์การเรียนรู้ (ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง) ดังนี้
     1. บอกชื่อสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายได้
     2. ยกตัวอย่างอาหารประเภทต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้
     3. อธิบายประโยชน์ของสารอาหารและโทษของการขาดสารอาหารได้
     4. เสนอแนะการรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารครบถ้วนและเหมาะสมกับเพศและวัยของตนเอง
     5. บอกพฤติกรรมการกินอาหารที่มีผลดีและผลเสียต่อสุขภาพ
     6. อธิบายการใช้สารเจือปนในอาหาร และอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้
 
เรื่องที่ 2 พลังงานแสง  จุดประสงค์การเรียนรู้ (ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง) ดังนี้
    1. บอกแหล่งที่ให้แสงสว่างได้
    2. บอกประโยชน์ของแสงสว่างที่มีต่อโลกมนุษย์ได้
    3. นำความรู้เรื่องแสงไปใช้ประโยชน์ได้
    4. ทดลองและอธิบายการเคลื่อนที่ของแสงจากแหล่งกำเนิดได้
    5. ทดลองและอธิบายการเดินทางของแสงเมื่อกระทบกับ
       ตัวกลางชนิดต่าง ๆ ได้
    6. ร่วมกิจกรรมกลุ่มทำการทดลองด้วยความรับผิดชอบ
                         ฯลฯ
 เรื่องที่ 3 หินและการเปลี่ยนแปลง มีจุดประสงค์การเรียนรู้ (ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง) ดังนี้
    1. อธิบายลักษณะของหินในท้องถิ่นและระบุแหล่งที่พบได้
    2.  อธิบายวัฏจักรของหินได้
                                     ฯลฯ
เรื่องที่ 4  จักรวาลและอวกาศ มีจุดประสงค์การเรียนรู้ (ผลการเรียนรู้
ที่คาดหวัง) ดังนี้
    1. อธิบายลักษณะของจักรวาลและกาแล็กซี่ได้
    2. สร้างแบบจำลองของระบบสุริยะได้
                                      ฯลฯ
    4. สร้างตารางวิเคราะห์หลักสูตรหรือตารางกำหนดลักษณะของแบบทดสอบ  การวิเคราะห์หลักสูตรเป็นการวิเคราะห์เนื้อหาและจุดประสงค์การเรียนรู้รวมทั้งพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหากับพฤติกรรมในจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ต้องการออกข้อสอบ 
  •  ช่วยให้ครูทราบว่าในการจัดการเรียนรู้รายวิชานั้น ๆ มีเนื้อหาอะไรบ้าง และแต่ละเนื้อหามุ่งให้นักเรียนเกิดพฤติกรรมอะไร อย่างละเท่าไร
  • ช่วยให้การจัดการเรียนรู้ และการวัดผลประเมินผลสอดคล้องกัน
  • ช่วยให้ครูวัดผลได้ครอบคลุมเนื้อหาและพฤติกรรมตามที่หลักสูตรกำหนด
        (คลิกดูรายละเอียดการสร้างตารางวิเคราะห์หลักสูตรในหน้าถัดไป)